วันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ศิลปหัตถกรรมการแกะรูปหนังตะลุง



ความเป็นมา
งานหัตถกรรม คืองานที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นมาจากฝีมือและภูมิปัญญา เป็นการแดสงออกถึงความเจริญทางวัฒนธรรม เป็นมรดกที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญทางวัฒนธรรม เป็นมรดกที่แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ไทย สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาและจิตใจของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี หัตถกรรมเป็นการสนองความต้องการของมนุษย์ โดยมนุษย์ได้ดัดแปลงประดิษฐ์คิดค้นขึ้นจากวัสดุที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ตามที่มนุษย์ต้องการ ด้วยเหตุนี้หัตถกรรมแทบทุกประเภทจึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกและความบันเทิงในการดำรงชีวิตของมนุษย์แทบทั้งสิ้น ดังที่ วิบูลย์ ลี้สุวรรณ ( 2525 : 34 ) กล่าวไว้ว่า มนุษย์สร้างงานหัตถกรรมขึ้นมาก็เพื่อประโยชน์ใช้สอยทั้งทางกายและทางจิตใจเป็นสำคัญ จากการประดิษฐ์คิดค้นที่กระทำสืบต่อกันมาเป็นเวลานับพันนับร้อยปี ช่วยให้มนุษย์เกิดความชำนาญและเรียนรู้ในการเลือกสรรวัตถุดิบ เรียนรู้ในการปรับปรุงพัฒนารูปแบบของหัตถกรรมประเภทต่าง ๆ ให้สามารถสนองประโยชน์ได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่จะทำได้และเมื่อหัตถกรรมนั้น ๆ มีความสมบูรณ์ในการใช้สอยแล้ว ความชำนาญความจัดเจนในกรรมวิธีจะช่วยให้ช่างหรือผู้สร้างงานหัตถกรรมมีความงามและมีคุณค่าทาง “ศิลปะ” เป็นการพัฒนา “หัตถกรรม” ไปสู่ “ศิลปหัตถกรรม” การแกะรูปหนังตะลุงเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่มีความสัมพันธ์กับบริบทของสังคมทั้งด้านสภาพธรรมชาติและสภาพวัฒนธรรม ภาคใต้เป็นแหล่งหนึ่งที่มีการผลิตงานศิลปหัตถกรรมหลายประเภทในพื้นที่หลายแห่งสืบมาช้านาน “การแกะรูปหนังตะลุง” เป็นงานงานหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงมากอย่างหนึ่งของชาวภาคใต้ที่สืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตควบคู่กับการเล่นหนังตะลุงจนถึงปัจจุบัน
ในอดีตการแกะรูปหนังตะลุง จะทำเฉพาะสำหรับเชิดในการเล่นหนังตะลุงเท่านั้น และ การเล่นหนังตะลุง ก็จะเล่นเรื่องรามเกียรติ์เป็นพื้น ครั้นต่อมานายหนังเลือกเรื่องอื่น ๆ ในวรรณคดีไทยบ้าง ชาดกบ้าง และปรับปรุงเนื้อหาในการแสดงใหม่เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ในแต่ละยุคสมัย เป็นวิวัฒนาการของศิลปะการแสดงที่เคียงคู่ไปกับความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตของคนไทย เช่น เรื่องไกรทอง สังข์ทอง ไชยเชษฐ์ แก้วหน้าม้า กฎแห่งกรรม ต้นรักดอกโศก เป็นต้น แต่ปัจจุบันสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ช่างแกะรูปหนังตะลุงได้พัฒนาหันมาแกะรูปหนังในเชิงพาณิชย์ เป็นศิลปะในการตกแต่งอาคารบ้านเรือน ฝาผนังและเพื่อประโยชน์ใช้สอยเบ็ดเตล็ด เป็นต้น ช่างฝีมือพื้นบ้านการแกะรูปหนังตะลุงเป็นภูมิปัญญาของช่างที่มีความรู้ทางศิลปะและวัฒนธรรมเป็นอย่างดีเป็นผู้ที่มีประสบการณ์และรู้จักใช้จินตนาการในการแกะโดยทั่วไปจะมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ นายหนังเป็นช่างแกะรูปหนังเองและช่างแกะรูปหนังเป็นผู้แกะรูปหนังเองโดยเฉพาะ
การแกะรูปหนังตลุง เป็นงานศิลปหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงของจังหวัดพัทลุง มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตควบคู่กับการเล่นหนังตะลุงในจังหวัดทางภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดพัทลุงและจังหวัดใกล้เคียง เป็นงานศิลปหัตถกรรมที่ต้องทำด้วยมืออย่างเดียว เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ซึ่งจะต้องใช้ความรู้ ทักษะ ความชำนาญซึ่งเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นเป็นเวลายาวนานและจะต้องมีศิลปะความละเอียดอ่อน ความปราณีต ผู้แกะรูปหนังตะลุงจะต้องมีใจรัก มีจินตนาการที่ดี ต้องศึกษาประวัติความเป็นมาของตัวรูปหนังตะลุงที่จะแกะว่ามีรูปร่างหน้าตาเอกลักษณ์ว่าเป็นอย่างไร เพื่อจะได้รูปหนังตะลุงตามตัวละครที่สวยงามและมีชีวิตชีวา ตลอดทั้งความเชื่อในการแกะรูปหนังตะลุงที่มีขั้นตอน กรรมวิธีที่ซับซ้อน หลาย ๆ ด้านประกอบกัน การแกะรูปหนังแต่ละตัว แต่ละประเภท ไม่ว่ารูปหนังสำหรับเชิดและรูปหนังที่ใช้ในการประดับตกแต่ง กว่าจะผลิตผลงานออกมาแต่ละชิ้น ต้องอาศัยความรู้ ศิลปะ ความอดทน ความพยายาม ความพิถีพิถัน ทุ่มเทจิตใจและเวลาหลาย ๆ วันของผลงานแต่ละชิ้น เพื่อให้งานออกมาแล้วเหมือนมีชีวิต มีวิญญาณ มีคุณค่าและสอดคล้องกับประเพณี ความเชื่อ ศาสนาและการแต่งกายของท้องถิ่นและสากลนิยมและเป็นงานศิลปหัตถกรรมชิ้นหนึ่งที่ไม่ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน เนื่องจากเป็นงานศิลปะที่ไม่ใช้พลังงานไฟฟ้าและเทคโนโลยีในการผลิตเป็นการลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนและลดใช้พลังงานน้ำมัน มีการใช้พลังงานทดแทนสามารถช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนได้เป็นอย่างดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น