วันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2552

คุณค่าและบทบาทงานช่างแกะรูปหนังตะลุงต่อวิถีชีวิต


คุณค่าและบทบาทงานช่างต่อวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น
การแกะรูปหนังตะลุง เป็นงานศิลปหัตกรรมพื้นบ้านที่มีคุณค่าและมีบทบาทต่อวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นมานานหลายร้อยปี วัตถุประสงค์หลักของการแกะรูปหนังตะลุงในอดีตก็เพื่อใช้ในการแสดงหนังตะลุงเท่านั้น เป็นภูมิปัญญาที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษในครอบครัวของตนหรือเรียนรู้ด้วยการฝึกหัด ฝึกฝนเป็นหลัก จากเพื่อนบ้านในหมู่บ้านของตน ซึ่งการแกะรูปหนังตะลุงนั้นมักจะแกะอยู่ในกรอบของวิถีชีวิต สังคมและวัฒนธรรมท้องถิ่น ทั้งรูปแบบและลวดลาย ที่มีคุณค่าด้านต่าง ๆ ดังนี้
1. คุณค่าด้านสังคม สามารถก่อให้เกิดความรัก ความผูกพัน สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและยั่งยืน ตั้งแต่ด้านครอบครัว ด้านชุมชน ด้านความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดังนี้
1.1 ด้านครอบครัว การเรียนรู้สืบทอดภูมิปัญญาจากบรรพบุรุษ จากพ่อสู่ลูก ส่งผล
ครอบครัวมีความรู้สึกผูกพันใกล้ชิด ก่อให้เกิดความรัก ความเข้าใจ ความผูกพันอันทรงคุณค่ายิ่งในครอบครัว
1.2 ด้านชุมชน การเรียนรู้การแกะรูปหนังตะลุงในหมู่เพื่อนบ้านและการที่หลายๆ ครอบครัวได้เข้ามารวมกลุ่มแกะหนังตะลุงขึ้นมาเป็นการใช้กระบวนการทำงานแบบการรวมกลุ่มทำงานในรูปแบบของสมาชิกกลุ่ม ทำให้มีการเคารพต่อกันและการอาศัยอยู่ร่วมกับคนอื่นภายใต้กฎระเบียบสังคมเดียวกัน ก่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในชุมชน ส่งผลให้ชุมชนเข้มแข็งและสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและยั่งยืน
1.3 ด้านความสัมพันธ์ระหว่างชุมชน เมื่อมีกลุ่มแกะหนังตะลุงเกิดขึ้นในชุมชน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหาตลาดภายนอกชุมชนเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างรายได้ให้กับชุมชน เป็นการเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดความรู้ ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับชุมชนอื่นๆ อีกด้วย
1.4 ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะเห็นได้ว่าจากการที่รูปหนังตะลุงที่แกะเป็นของที่ระลึก และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่แกะจากหนังวัว หนังควายนั้น เป็นที่สนใจของคนทั่วไปและชาวต่างชาติเป็นอย่างดี ถือได้ว่าการแกะรูปหนังตะลุงเป็นงานศิลปหัตกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดพัทลุงและของภาคใต้ เป็นสินค้าอย่างหนึ่งที่สามารถเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวได้มาเยี่ยมชม ทัศนศึกษาและได้ซื้อผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านการแกะรูปหนังตะลุงกลับไปสู่ประเทศของตน ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาของตน ที่สามารถถ่ายทอดวัฒนธรรมไปสู่ต่างประเทศได้และเป็นส่วนหนึ่งในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมกับต่างประเทศ ทำให้ภูมิปัญญาไทยเป็นที่รู้จักในต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้มีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศดีขึ้นตามมาด้วย
2. คุณค่าด้านศาสนา ความเชื่อในด้านศาสนาที่มีอยู่ในท้องถิ่น โดยจะแกะหนังเป็นรูปพระเพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจและกราบไหว้สักการะบูชา 3. คุณค่าด้านวัฒนธรรม อันประกอบด้วย
3.1 ด้านความเชื่อ ช่างแกะหนังในจังหวัดพัทลุง มีวัฒนธรรมความเชื่อถือผีบรรพบุรุษ โดยมีความเชื่อเกี่ยวกับการไหว้ครูช่าง โดยความเชื่อนับถือครูบาอาจารย์ที่ประสาทวิชาความรู้การแกะหนังตะลุงมาสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน และไหว้วิญญาณของบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นความเชื่อว่า วิญญาณของบรรพบุรุษยังมีความรักความห่วงใยลูกหลาน คอยพิทักษ์รักษาดูแลทุกคนในวงเครือญาติให้อยู่อย่างปลอดภัย มีความเจริญในหน้าที่การงาน
นอกจากจะมีความเชื่อในเรื่องผีบรรพบุรุษแล้ว ยังมีความเชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติ ช่างแกะหนังตะลุงมีความเชื่อว่า การทำรูปหนังพวกฤาษี รูปตัวตลก จะนิยมใช้หนังหมี หนังเสือมาแกะรูป ส่วนรูปหนังพระอิศวร พระนารายณ์ ใช้หนังวัวที่ถูกเสือกัดตาย หรือออกลูกหรือถูกฟ้าผ่าตาย เรียกว่า ตายพราย วัวที่ถูกฟ้าผ่าตายและหนังวัวที่ตายทั้งกลม โดยมีความเชื่อว่าหนังชนิดนี้มีความขลังความศักดิ์สิทธิ์ ถือเป็นความเชื่อด้านเหนือสิ่งธรรมชาติ ในเรื่องของภูตผีปีศาจอยู่ ช่างแกะหนังในจังหวัดพัทลุงทุกคนเคารพและนับถือความเชื่อด้านสิ่งเหนือธรรมชาติที่สิงสถิตอยู่ที่ตัวรูปหนังและจะบูชากราบไหว้ และถือว่าตัวรูปหนังดังกล่าวนำความเจริญ โชคลาภ ความดีความงามมาสู่แก่ช่างแกะหนังทุก ๆ คน
นอกจากความเชื่อดังกล่าวแล้ว ในการแสดงหนังตะลุงก็มีความเชื่อว่า การเชิดรูปพระอิศวร เป็นตัวที่ 2 ต่อจากรูปฤาษี เป็นรูปสำคัญตัวหนึ่งที่หนังตะลุงทุกคณะต้องเชิดตามขนบนิยมทุกครั้งที่มีการแสดง เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า รูปพระอิศวร เป็นสื่อเชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมหนังตะลุงกับคตินิยมตามลัทธิศาสนาพราหมลัทธิไศวนิกายที่ถือเอาพระศิวเทพเป็นใหญ่ในตรีมูรติ (พระศิวะ พระวิษณะ และพระพรหม)
4. คุณค่าด้านเศรษฐกิจ จากในอดีตการที่ช่างแกะรูปหนังตะลุง แกะเพื่อใช้ในการแสดงหนังตะลุงเท่านั้น ทำให้มีการแกะกันเพียงไม่กี่ครัวเรือน ปัจจุบัน การแกะรูปหนังตะลุงมีทั้งแกะสำหรับการแสดงและแกะเพื่อเป็นสินค้า เป็นของที่ระลึก และใช้ประดับตกแต่ง ทำให้การแกะรูปหนังตะลุงฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง สามารถเพิ่มเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี ทั้งยังก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับชุมชนอื่น ๆ อีกด้วย 5. คุณค่าด้านความสุนทรีย์ การแกะรูปหนังตะลุง ต้องเป็นคนที่มีความรู้สามารถ ความเข้าใจและความชำนาญในด้านศิลปะเป็นอย่างดี โดยเฉพาะลวดลายไทย ที่ต้องใช้ในการแกะหนัง และสามารถวาดรูปและลงสีให้สวยงามเกิดความสุนทรีย์ในผลิตภัณฑ์ ส่งผลในการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ได้อีกประการหนึ่งด้วย
6. คุณค่าด้านการสร้างจิตนิสัย จากการที่ชาวบ้านได้รวมกลุ่มทำศิลปหัตถกรรมการแกะหนังตะลุง เป็นการรวมกลุ่มกันทำให้เกิดคุณค่าด้านการสร้างจิตนิสัยเกิดความสัมพันธ์กันเป็นสังคมท้องถิ่น ส่งผลให้ชาวบ้านสร้างจิตนิสัยในด้านต่างๆ 6 ด้าน ได้แก่ ความสามัคคีในกลุ่ม ความอดทน ความมีจิตใจเอื้ออารี ความขยันหมั่นเพียร ความประหยัดและการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
7. คุณค่าด้านการช่วยลดภาวะโลกร้อน ศิลปหัตกรรมการแกะรูปหนังตะลุงสามารถช่วยลดโลกร้อนได้ด้วยเหตุผล ดังนี้
7.1 ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง เป็นการช่วยในการลดการแพร่กระจายของกาซคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่เกิดมลภาวะเป็นพิษ ใช้แรงงานจากบุคคลในการผลิต มากกว่าใช้เทคโนโลยี และไม่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง ใช้เครื่องมือที่ไม่ใช้พลังงานมาก
7.2 ลดการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน โดยนำขนวัว ขนควาย เศษหนังที่ไม่ใช้ นำมาทำปุ๋ยแทนการใช้ปุ๋ยชีวภาพ
7.3 ใช้พลังงานทดแทน โดยใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ในการตากหนัง
7.4 การรวมกลุ่มอาชีพ รวมกลุ่มสร้างตลาดผู้บริโภค-ผู้ผลิตโดยตรงในท้องถิ่น เพื่อลดกระบวนการขนส่งผ่านพ่อค้าคนกลางที่ต้องใช้พลังงานและน้ำมันในการคมนาคมขนส่งงานหัตถกรรมไปยังตลาด

1 ความคิดเห็น:

  1. เป็นบทความที่ดี ผู้เขียนมีความตั้งใจอนุรักษ์ศิลปการแสดงหนังตะลุง และศิลปหัตถกรรมประเภทนี้ให้คงอยู่ มีแนวคิดมากมายน่าศึกษายิ่ง
    ผศ.สุชาต วิสุทธิพันธ์ุ
    นักศึกษาปริญญาเอกนวัตกรรม

    ตอบลบ