วันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เอกลัษณ์และอัตลักษณ์ของรูปหนังตะลุง






เอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของรูปหนังตะลุง
การแกะรูปหนังตะลุงที่ใช้ในการแสดงนั้น ช่างแกะหนังตะลุง ต้องใช้ ใช้ความรู้ความสามารถ ความชำนาญซึ่งเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นเป็นเวลายาวนานและจะต้องมีศิลปะ ความละเอียด ความประณีต มีใจรัก มีจินตนาการที่ดี ต้องศึกษาประวัติความเป็นมา บุคลิกภาพของรูปตัวหนังตะลุงที่จะแกะว่ามีรูปแบบหน้าตา เอกลักษณ์ของรูปหนังแต่ละตัวว่าเป็นอย่างไร เพื่อที่จะได้แกะรูปภาพออกมาตามแบบตัวละครที่สวยงามและมีชีวิตชีวา ตลอดทั้งความเชื่อในการแกะรูปหนังตะลุง ที่เชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งได้ยึดถือกันตลอดมา ทั้งนี้เพื่อให้เกิดสิริมงคลแก่ตนเองและคณะหนังตะลุง ไม่ว่าจะอยู่ระหว่างการแกะรูปหนังตะลุงหรือการแสดงหนังตะลุงก็ตาม ช่างแกะหนังตะลุงจะต้องตั้งจิตระลึกถึงครู อาจารย์และพระพิฆเณศวร์ ผู้ประสาทวิชาศิลป์ แล้วจรดปลายมีดแกะลงบนผืนหนังเพื่อจะแกะรูปหนังตะลุงตัวแรก พร้อมกล่าวเป็นคาถาเบิกตา เสร็จแล้วกล่าวคาถาเบิกปากรูป เป็นอันว่ารูปตัวต่อ ๆ ไปที่ทำในวันนั้น ทำต่อไปได้ไม่ต้องว่าคาถาแล้ว แต่พอเริ่มวันใหม่ก็ต้องว่าคาถาเหมือนเดิมอีก ช่างจึงสามารถถ่ายทอดภูมิปัญญาในการแกะรูปหนังตะลุงได้โดยสามารถสื่อให้เห็นถึงเอกลักษณ์และหัตลักษณ์เฉพาะตัวของรูปหนังตะลุงได้เป็นอย่างดี ซึ่งรูปหนังตะลุง แบ่งแยกออกเป็น 4 ชนิด คือ
1. รูปเรื่อง ได้แก่ รูปฤาษี รูปพระอิศวรหรือรูปพระอินทร์ทรงโค รูปปรายหน้าบทและรูปบอกเรื่อง ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะ ดังนี้
1.1 รูปฤาษี
ถือเป็นรูปครูมีความขลังศักดิ์สิทธิ์ มีความเคร่งขรึม ฤาษีที่อยู่ในเนื้อเรื่องของหนังตะลุงมักเป็นสิทธาจารย์ ผู้คงแก่เรียนทำนองเดียวกับฤาษีในวรรณกรรม มักเรียกว่า ฤาษีตาไฟ ทรงวิทยาคุณอย่างพราหมณ์ และทรงคุณธรรมอย่างพุทธประสมประสานกันบทบาทดี่เด่นชัด ช่างแกะรูปหนังตะลุง ต้องใช้ภูมิปัญญาในการแกะที่สามารถสื่อให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของรูปนี้ให้ได้ ซึ่งแต่ละช่างก็ไม่สามารถถ่ายทอดให้เหมือนกันได้ทุกคน รูปฤาษีจะออกมาในลักษณะใดขึ้นอยู่กับความสามารถและจินตนาการของช่างนั้น ๆ
1.2 รูปพระอิศวร(รูปโค)
รูปพระอิศวรของหนังตะลุง เป็นรูปสำคัญตัวหนึ่งที่หนังตะลุงทุกคณะต้องเชิดตามขนบนิยมทุกครั้งที่มีการแสดง และเชิดเป็นตัวที่ 2 ต่อจากรูปฤาษี รูปพระอิศวร เป็นสื่อเชื่อมโยงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมหนังตะลุงกับคตินิยมตามลัทธิศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกายที่ถือเอาพระศิวเทพเป็นใหญ่ในตรีมูรติ (พระศิวะ พระวิษณะ และพระพรหม) ซึ่งช่างต้องใช้ความสามารถในการสื่อให้เห็นภาพพจน์ของรูปลักษณะเช่นนี้ให้เข้าใจได้ง่าย

1.3 รูปปรายหน้าบท
ปรายหน้าบท ถือว่าเป็นตัวแทนของนายหนัง ที่ช่างต้องใช้ภูมิปัญญาในการคิดที่จะถ่ายทอดให้ออกมาเป็นรูปชายหนุ่มที่สวยงามมือถือธงหรือดอกบัว ใช้เชิดหลังจากพระอิศวรจบแล้ว เพื่อกล่าวบทไหว้ครูและปรารภเรื่องต่าง ๆ กับผู้ชม
1.4 รูปบอกเรื่อง
เป็นตัวตลกตัวหนึ่งของคณะหนังแต่ละคณะเพื่อใช้ในการบอกเรื่องที่จะแสดง ซึ่งรูปบอกเรื่องของนายหนังแต่ละคณะนั้นจะแตกต่างกัน เป็นรูปที่แกะแบบหยาบ ๆ ง่าย ๆ เอกลักษณ์ของตัวตลก เป็นการนำเอาคนในท้องถิ่นมาสรรสร้างขึ้นเพื่อล้อเลียน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาที่สำคัญของช่างอีกประการหนึ่งที่สามารถสื่อออกมาในลักษณะของการตลก ขบขันได้
2. รูปนุด ได้แก่รูปมนุษย์ชายหญิง รูปพระรูปนาง รูปเจ้าเมือง มเหสี พระโอรสธิดา รูปพระเอก นางเอก โดยช่างต้องใช้ฝีมือในการแกะให้เหมือนจริงที่สุดและลงสีสันให้สวยงาม
3. รูปยักษ์ ได้แก่ ตัวแทนฝ่ายอธรรม รูปทาสา รูปทาสี ซึ่งไม่มียศศักดิ์
ยักษ์ในหนังตะลุง มี 3 ประเภท คือ ยักษ์กินคน มีความโหดร้ายอำมหิตโดยสันดาน ยักษ์ใจบุญสุทาน ร่างเป็นยักษ์แต่ใจเป็นมนุษย์ เดนยักษ์หรือยักษ์บ้า เป็นยักษ์ป่า บ้า ๆ บอ ๆ ยักษ์ทั้ง 3 ประเภทนี้มีทั้งเพศหญิงและเพศชาย ยักษ์ผู้เรียกว่ายักษา ยักษ์เมียเรียกว่ายักษี การแกะรูปยักษ์ช่างต้องสื่อให้เห็นถึงความขึงขัง มีอำนาจและดุร้าย ทั้งรูปแบบของตัวหนังและการใช้สี ส่วนรูปทาสา รูปทาสีที่ไม่มียศศักดิ์ ก็เป็นความสามารถของช่างเช่นกันที่สามารถสื่อออกมาให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของรูปหนังแต่ละตัวได้
4.รูปกาก คือรูปตลกต่าง ๆ พูดจาหรือแสดงท่าทางขบขันเอาเนื้อหาสาระไม่ได้ บางตัวถือว่าเป็นตัวสำคัญสร้างชื่อเสียงให้หนังตะลุง บางครั้งอาจจะจัดให้เป็นตัวศักดิ์สิทธิ์ของคณะนั้น ๆ รูปกากส่วนใหญ่จะเป็นรูปสีดำหรือสีดั้งเดิมที่นำมาแกะรูป ไม่ค่อยมีลวดลาย แต่ก็เป็นภูมิปัญญาของช่างที่สามารถนำบุคคลในท้องถิ่นมาล้อเลียนเป็นตัวตลกของคณะหนังได้ ประกอบด้วยตัวตลกต่าง ๆ เช่น นายเท่ง นายหนูนุ้ย นายยอดทอง

2 ความคิดเห็น:

  1. มีรูปตัวหนังตะลุงเพิ่มเติมไหม่ค่ะ หนูสนใจเพจนี้มากค่ะ หนูจะทำเกี่ยวกับเรื่องหนังตะลุงเป็นงานจบในการเรียนมหาลัยค่ะ

    ตอบลบ
  2. ใน Facebook ช่างชอบ แกะหนังตะลุง มีเยอะแยะหลากหลายเลยครับ

    ตอบลบ