วันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ประวัติความเป็นมาของหนังตะลุง





ประวัติความเป็นมาของหนังตะลุง
หนังตะลุง หมายถึง คณะมหรสพที่นำตัวหนังซึ่งตัดและแกะจากหนังสัตว์ มาเป็นรูปตัวละครต่างๆตามท้องเรื่องที่จะแสดงมาเชิดบนจอด้านใน โดยใช้แสงสว่างให้เกิดเงาบนจอหนัง หนังตะลุงอีกชนิดหนึ่งคือหนังประโมทัย ในภาคอีสานนั้น ได้รับแบบอย่างมาจากหนังตะลุงภาคใต้ โดยนิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์เป็นหลัก
หนังตะลุงเป็นการละเล่นพื้นบ้านภาคใต้ที่มีประวัติมาอย่างช้านานและเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายและสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้หนังตะลุงคนซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับหนังตะลุงซึ่งเป็นบ่อเกิดหนังตะลุงคนเกิดจากหนังตะลุง ดังนั้นนักวิชาการหลายคนได้พยายามศึกษาประวัติความเป็นมาของหนังตะลุงว่าเริ่มขึ้นที่ใดและเมื่อใดแต่ยังหาข้อยุติไม่ได้ และยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ เกี่ยวกับเรื่องนี้
ธนิต อยู่โพธิ์ (2522 : 1-2) ได้กล่าวถึงความเป็นมาของหนังตะลุงว่า “มหรสพพื้นบ้านที่ขึ้นหน้าขึ้นตาของชาวไทยสมัยโบราณอีกอย่างหนึ่งคือหนัง ซึ่งเรียกกันภายหลังว่าหนังใหญ่ เพราะมีหนังตะลุงซึ่งเป็นหนังตัวเล็กเกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่ง จึงได้เติมคำเรียกให้แตกต่างกันออกไป”ซึ่งถ้าตีความนี้ก็แสดงว่าหนังตะลุงน่าจะเกิดขึ้นหลังหนังใหญ่ของภาคกลาง แต่เมื่อพิจารณาผลการศึกษาค้นคว้าของนักวิชาการคนอื่น ๆ เข้าประกอบแล้วจะเห็นว่ายังไม่อาจถือเป็นข้อยุติได้นักว่าหนังตะลุงเกิดขึ้นหลังหนังใหญ่ ทั้งนี้เพราะคำว่า “หนังตะลุง” เป็นคำที่เรียกกันในเวลาต่อมา ในสมัยก่อนชาวภาคใต้เรียกการละเล่นแบบนี้ในภาคใต้ว่า “หนัง” หรือบางทีเรียก “หนังควน”
จากหลักฐานเก่าแก่เกี่ยวกับหนังตะลุงที่บ่งชี้ว่า หนังตะลุงเป็นศิลปะการแสดงน่าจะมีต้นกำเนิดที่ภูมิภาคนี้คือที่จังหวัดพัทลุง จากนั้นจึงแพร่หลายไปยังจังหวัดอื่น ๆ ในภาคใต้
สมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2508 : 99) ได้ทรงบันทึกไว้ตอนหนึ่งว่าพวกชาวบ้านควน (มะ) พร้าว แขวงจังหวัดพัทลุงคิดเอาอย่างหนังแจก (ชวา) มาเล่นเป็นเรื่องไทยขึ้นก่อนแล้วจึงแพร่หลายไปที่อื่น ในมณฑลนั้นเรียกว่า “หนังควน” เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) พาเข้ากรุงเทพฯ ได้เล่นถวายตัวที่บางปะอินเป็นที่แรกเมื่อปีชวด พ.ศ.2419
วิบูลย์ ลี้สุวรรณ (2525 : 180) ได้แสดงทรรศนะไว้ว่าหนังตะลุงเป็นการละเล่นที่ไทยได้รับมาจากชวา โดยกล่าวว่า หนังตะลุงเป็นการละเล่นของชวาที่มีมาก่อน ศตวรรษที่ 11 แล้วแพร่หลายเข้มายังมาลายูและภาคใต้ของไทย โดยที่ชาวมลายูหรือมาเลเซียในปัจจุบันเรียกว่า วายังกุเล็ต (ไทยใช้วายังกุลิต) “วายัง” แปลว่ารูปหรือหุ่น “กุเล็ต” แปลว่าเปลือก หรือหนังสัตว์รูปที่ทำด้วยหนังสัตว์ และตัวหนึ่งที่เข้ามาสู่ประเทศไทยหรือชวาก็ตามจะเห็นว่ามีรูปร่างลักษณะที่ผิดแปลกแตกต่างไปจากมนุษย์ธรรมดา เป็นเพราะความเชื่อของชาวชวานั้นไม่นิยมสร้างรูปคนที่เป็นที่เคารพนับถือ การทำตัวหนังจึงได้สร้างให้มีลักษณะที่ต่างไปจากคนธรรมดา ซึ่งลักษณะนี้ปรากฏอยู่ในตัวหนังไทยโดยเฉพาะตัวตลก
หนังตะลุงหรือการแสดงหนังเงา มีปรากฏอยู่ในประเทศต่าง ๆ เช่น อียิปต์ กรีก โรมัน จีนและอินเดีย สำหรับอินเดีย เริ่มมีการแสดงหนังหลังพุทธกาลเล็กน้อย ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็อาจจะได้รับอิทธิพลการแสดงหนังตะลุงมาจากอินเดียก็ได้เนื่องจากการเข้ามาซึ่งการขยายอำนาจทางวัฒนธรรม ศาสนา การค้าขาย เป็นต้น
ตามทรรศนะของนักวิชาการพอจะสรุปได้ว่า หนังตะลุงเป็นการละเล่นพื้นบ้านภาคใต้ที่มีประวัติสืบต่อกันมาอย่างช้านานแม้นักวิชาการยังไม่อาจสรุปได้แน่ชัดว่าหนังตะลุงเกิดขึ้นมาที่ไหน และเมื่อใดนั้น แต่นักวิชาการต่างเห็นพ้องกันว่าหนังตะลุงเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่เก่าแก่อย่างหนึ่งและเป็นการละเล่นที่นิยมกันมากในภาคใต้ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น